บัวบูชาพระรัตนตรัย

Worship-Lotus for Ratanattaya

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพจน์ สิงห์สาย
Asst.Prof. Supot Singhasai

ที่มา และความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน

ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธต่างก็ถือคตินิยมในเรื่องบัว มีการนำดอกบัวมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพราะถือว่า บัวเป็นพฤกษชาติอันสูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ศาสนาพราหมณ์ต้นกำเนิดในอินเดียถือว่า ดอกบัวเป็นที่กำเนิด ของเทพเจ้าเพื่อมาอุปถัมภ์โลก ดังเช่น พระนารายณ์ ในตรีมูรติ (พระผู้เป็นเจ้า 3 องค์ผู้สูงสุด) ทรงสร้างโลกขึ้นใหม่ด้วยดอกบัวที่ผุด ออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์ และกลางดอกบัวมีพระพรหมผู้สร้างโลกถือกำเนิดขึ้นมาประทับอยู่ พระนารายณ์ทรงมี สี่กร ทรงถือสังข์ จักร คฑา และดอกบัว ซึ่งหมายถึงธรณี (ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิส ดิสกุล, 2546) การประกอบพิธีกรรม ที่สำคัญทางศาสนา เช่น พิธีไวกูณฐจตุรทศีของพราหมณ์มีการบูชาพระนารายณ์ (พระวิษณุ) ด้วยดอกบัวจำนวน 1,000 ดอก ความ นิยมบัวได้ถ่ายทอดมาสู่วัฒนธรรมไทยทางอิทธิพลของศาสนาก่อให้เกิดความนิยมนำบัวมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็น องค์ประกอบสำคัญของประเพณีงานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ สืบทอดมาแต่โบราณ ส่วนในศาสนาพุทธ ดอกบัวเป็นสัญญาณหรือนิมิตให้ทราบ ถึงจำนวนผู้ที่มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอสงไขยหนึ่ง ๆ ดังนั้น ดอกบัวในพุทธศาสนามีความหมายเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นดอกไม้ประจำพระพุทธศาสนา และแทนความหมายแห่งพระรัตนตรัย พุทธศาสนิกชนชาวไทยมีความเชื่อว่า การบูชาด้วยดอกบัวจะได้บุญกว่าบูชาด้วยดอกไม้ชนิดอื่น ดอกบัวที่นำมาบูชาพระมักใช้ดอกบัวหลวงสีขาวบริสุทธิ์ แทนความหมายแห่ง ดวงใจบริสุทธิ์เพื่อน้อมเป็นพุทธบูชา (ฤดีรัตน์, 2542)

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นที่มาและความบันดาลใจในการสร้างผลงาน รูปทรงที่สำคัญภายในผลงานใช้รูปทรงดอกบัวพับกลีบ จัดกลีบ ประดิดประดอยให้เกิดความสวยงามสำหรับเพื่อบูชาแด่พระรัตนตรัยตามความนิยมของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เป็นสัญลักษณ์ ในการบอกเรื่องราวและเนื้อหาภายในผลงานตามทัศนะของผู้สร้าง โดยแสดงเนื้อหาสาระในเรื่องความสงบ ความศรัทธา

วัตถุประสงค์ของการสร้างสรรค์ผลงาน
  • 1. เป็นผู้ริเริ่มการนำรูปทรงดอกบัวในลักษณะจัดกลีบ พับกลีบ เพื่อใช้สำหรับบูชาเป็นสื่อสำคัญในการสร้างผลงาน
  • 2. เพื่อค้นคว้าทดลอง หาแนวทางในการสร้างผลงานแนวพุทธ ศาสนาที่ตนเองสนใจ
  • 3. เพื่อนำความรู้จากประสบการณ์ในการสร้างผลงานมาปรับ ใช้ในการสอน
แนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน

น้อมนำใจอันบริสุทธิ์เป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระรัตนตรัย

เทคนิคในการสร้างผลงาน

สีน้ำมันบนผ้าใบ

ขนาดของผลงานสร้างสรรค์

80 x 100 ซ.ม.

กระบวนการของการสร้างสรรค์ผลงาน
  • 1. ศึกษาคติเรื่องดอกบัวในศาสนาพุทธ
  • 2. ใช้ประสบการณ์จากการสร้างผลงานในแนวพุทธศาสนา และใช้จินตนาการค้นหารูปทรงที่สื่อเรื่องราวตามแนวความคิด
  • 3. ค้นหารูปทรงจากสื่อต่าง ๆ และออกสำรวจสถานที่จริงตามแหล่งโบราณสถานและ วัดด้วยการบันทึกภาพถ่ายเพื่อหาความบันดาลใจ
  • 4. ทำภาพร่าง (Sketch) เพื่อค้นหารูปทรง จัดวางองค์ประกอบของภาพ
  • 5. สร้างผลงานจริง โดยคำนึงถึงรูปแบบของผลงาน ต้องมีความสัมพันธ์กับขนาดของผลงาน
รูปแบบของผลงาน
  • 1. ใช้รูปทรงสิ่งที่เป็นจริงและรูปทรงทางความคิดที่เกิดจากจินตนาการ นำมาผสมผสานจนเกิดเป็นรูปทรงสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงพระรัตนตรัย
  • 2. จัดวางรูปทรงและใช้โครงสี เพื่อให้ได้ความรู้สึกสงบ ความศรัทธา
  • 3. รูปทรงดอกบัวจัดวางแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อสื่อถึงพระพุทธพระธรรม และพระสงฆ์
  • 4. ใช้ดอกบัวหลวงสีขาว สายพันธุ์ “สัตตบุษย์” นำมาจัดกลีบพับกลีบ ในลักษณะเบ่งบาน เพื่อสื่อความหมายถึงการตื่นรู้ตามความนิยมของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในการถวายเป็นพุทธบูชา
องค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์

จากการปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ในการใช้ดอกบัวในแต่ละรูปทรงเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายถึงพระรัตนตรัย โดยจัดแบ่งกลุ่มดอกบัวออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกใช้ดอกบัวจัดกลีบ พับกลีบให้บานจำนวน 5 ดอก เพื่อสื่อถึงการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลุ่มที่สองดอกบัวจัดกลีบ พับกลีบให้บานวางบนพวงมาลัยและมีกิ่งใบโพธิ์ สื่อถึงพระธรรมคำสั่งสอน (ใบโพธิ์เป็นสัญลักษณ์บำเพ็ญเพียรตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์) และกลุ่มที่สามดอกบัวตูมจัดกลีบเพียงเล็กน้อย จำนวน 3 ดอก จัดเป็นช่อกำ หมายถึงพระสงฆ์ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาและคำสอนของพระองค์

การจัดวางรูปทรงดอกบัว เป็นลักษณะลดหลั่นบนฐานบัวเป็นชั้นคล้ายแท่นบูชา และมีรูปทรงแท่นหินสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่คิดขึ้นจากการผสมระหว่างรูปทรงใบเสมากับรูปทรงใบโพธิ์มีลวดลายที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อยู่ภายในเป็นรูปทรง ได้แก่ ดอกบัวบาน พระรัศมีเปลวและใบโพธิ์ประดับอยู่

ประสบการณ์การสร้างผลงานเป็นประโยชน์มาก ทำให้ต้องใช้ความคิดและใช้จินตนาการในการสร้างรูปทรงขึ้นใหม่ โดยมีที่มาจากรูปทรงที่มีอยู่จริงบนพื้นฐานคติทางพุทธศาสนา เป็นการสร้างรูปแบบที่มีอัตลักษณ์เพื่อพัฒนาต่อไป และสามารถนำความรู้จากประสบการณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการสอนให้กับนักศึกษา

เอกสารอ้างอิง
  • - ฤดีรัตน์ กายราศ. (2542). ปกิณกคดีวิถีไทยในเรื่องบัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
  • - ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิส ดิสกุล. (2546). ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.