พระพุทธ

Image of Buddha

อาจารย์ พรพรม ชาววัง
Pornprom Chawwang

ที่มา และความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน

ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปร และการถ่ายเททางวัฒนธรรมในปัจจุบัน วิถีชีวิตค่านิยมผู้คน ในสังคมไทยเปลี่ยนไป มากมาย ยุคนี้จึงอาจพบว่าเป็นยุคที่ค่านิยมพัฒนาการด้านวัตถุ ดูเหมือนจะนำหน้าพัฒนาการด้านจิตใจไปเสียแล้ว

เมืองไทยคือเมืองพุทธ ข้าพเจ้าก็คือผู้หนึ่ง ที่ยังเห็นความงามในพุทธิปัญญาและวิถีปฏิบัติแบบชาวพุทธ แรงบันดาลใจของ ข้าพเจ้าในการสร้างสรรค์งานศิลปะชุดนี้ จึงเกิดจากการแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์พุทธศิลป์ร่วมสมัย ที่สามารถสืบทอด ดำรงความศรัทธาในความดีงาม หมดจดของศาสนาไว้ได้

งานสร้างสรรค์ชุดนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจสร้างสรรค์ให้เป็นงานพุทธศิลป์แนวใหม่ โดยได้ประยุกต์แนวคิดและรูปแบบจากรูปเคารพ ในพุทธศิลป์ดั้งเดิมของไทย นำมาดัดแปลง ผสมผสานกับแนวทางสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่โดยมุ่งให้ผลงานศิลปะนี้ สื่อสารใกล้ชิดกับ ผู้คนในปัจจุบัน

แม้อัตตาในตัวข้าพเจ้ายังมีมากมาย แต่ข้าพเจ้ายังคาดหวังถึงการสร้างผลงานศิลปะให้มีความงาม ที่สามารถขัดเกลาจิตใจ ทั้ง ตนเองและผู้อื่นให้เกิดความสงบ ปิติ เกิดปัญญาได้ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก

แนวความคิด

“สร้างสรรค์อย่างเรียบง่าย ซื่อสัตย์ ตรงใจ ดีที่สุด” ครั้งนี้ข้าพเจ้า เลือกใช้กรรมวิธีทางหัตถกรรมผ้าในการสร้างผลงาน เนื่องจากตนเอง มีความชอบ และมองเห็นความน่าสนใจของวัสดุผ้า รวมทั้งเทคนิคการ สร้างสรรค์งานหัตถกรรมผ้าในวิธีต่าง ๆ ว่ามีความงามพิเศษ สามารถ พัฒนาให้เป็นงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าได้ไม่แพ้เทคนิควิธีการอื่นๆ

“การได้สัมผัสกับความงามคือประตูบานแรก ๆ ที่เปิดทางให้มนุษย์ เราพัฒนาจิตใจ แลอารมณ์ สู่ระดับการพินิจด้วยสติปัญญา จนถึงการรับ รู้ความดีและความจริงได้ตามลำดับ”

ด้านเนื้อหาทางศิลปะ ข้าพเจ้าสื่อถึงความงดงามแห่งพุทธิปัญญา ถ่ายทอดผ่านสมมุติภาพแห่งพระสัพพัญญู ที่ชาวพุทธถือเป็นสัญลักษณ์ ของความประเสริฐแห่งปัญญาคุณ โดยเชื่อว่าพระองค์คือผู้ที่บรรลุถึง ความจริงแท้ที่สุดแห่งจักรวาล

ในผลงานชิ้นนี้ข้าพเจ้าได้นำเสนอรูปสมมุติองค์พระพุทธเจ้าทรง ประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกแนบพระอุระ ในกิริยา “ทรงรำพึง” หรือที่เราเรียกว่า “ปางรำพึง” ที่มาของพุทธลักษณะนี้มาจากพุทธประวัติ ในตอนที่พระพุทธองค์ ภายหลังที่ได้ตรัสรู้แล้ว ขณะทรงเสวยวิมุตติสุข ทรงรำลึกว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่ปราณีตลึกซึ้ง รู้เห็น ได้ยาก บัณฑิตเท่านั้นเท่านั้นพึงจะรู้ได้ จึงทรงท้อพระทัยที่จะเผยแผ่ ธรรมนั้นต่อเวไนยสัตว์ที่มากด้วยราคะ โทสะ ถูกอวิชาห่อหุ้ม ยากจะ มองเห็นธรรม

ด้วยเหตุนั้นท้าวมหาพรหม แลมวลหมู่เทพเทวดาจึงมาเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทูลอาราธนาขอให้พระองค์ทรงโปรดแสดงธรรม ที่ทรง เพียรบำเพ็ญบารมีมา เพื่อเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกด้วยเถิด

พระพุทธองค์สดับคำทูลดังกล่าวแล้ว ด้วยพระกรุณาจึงทรง พิจารณา แลเห็นว่า บุคคลในโลกนี้มี 4 จำพวก เปรียบดังดอกบัว 4 เหล่า อันได้แก่

อุคฆฏิตัญญู

ผู้ที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจได้ฉับพลัน เพียงท่านยกหัวข้อ ขึ้นแสดง เปรียบดังดอกบัวที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำ รอสัมผัส แสงอาทิตย์ก็จะบานในวันนี้

วิปจิตัญญู

ผู้ที่ฟังธรรมแล้วจะเข้าใจต่อเมื่อท่านขยายความ เปรียบ ดัง ดอกบัวที่ตั้งอยู่ เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

เนยยะ

ผู้ที่ฟังธรรมแล้ว พอจะแนะนำต่อไปได้ เปรียบดังดอกบัว ที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำ จักบานในวันต่อๆ ไป

ปทปรมะ

ผู้ที่ฟังธรรมแล้ว ได้เพียงแต่ถ้อยคำ ไม่อาจเข้าใจความ หมาย เปรียบดังดอกบัวจมอยู่ในน้ำที่กลายเป็นอาหาร ของปลาและเต่ ดังนี้แล้วพระองค์จึงตัดสินพระทัย เผยแผ่ธรรมอันวิเศษแก่สัตว์ โลก นับจากกาลนั้น

เรื่องราวและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเหล่านี้ ข้าพเจ้านำมา ออกแบบองค์ประกอบศิลป์ขึ้นใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาดั้งเดิม รูปทรง ของผลงานจะเกิดจากการนำเอาผ้าหลากชนิด หลากสีสันมาออกแบบ ตัด ต่อ ขึ้นรูปโดยการเย็บ ปะ ปัก รวมทั้งใช้เทคนิคปลีกย่อยอื่น ๆ เพื่อ ตกแต่งผลงาน จนเกิดเป็นรูปแบบศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

วัตถุประสงค์ของการสร้างสรรค์ผลงาน

1. เพื่อแสดงออกถึงมโนคติแห่งความดี งาม แห่งพุทธศาสนาตาม ทัศนะส่วนตัว
2. เพื่อคิดค้นต้นแบบงานประยุกต์ศิลป์ที่ มีเอกลักษณ์
3. เพื่อสร้างสรรค์งานประยุกต์ศิลป์ ที่สามารถจรรโลงใจ สร้างความ สงบเย็น แก่ผู้ชม
4. เพื่อสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ประยุกต์ ที่สอดคล้องกับบริบท สิ่ง แวดล้อม ค่านิยม ในสังคมปัจจุบัน

กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน

1. สำรวจทัศนคติ แรงบันดาลใจ
2. รวบรวมและ วิเคราะห์คัดสรรข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
3. สร้างภาพร่าง ตามจินตภาพ
4. ขยายแบบ เป็นผลงานจริง

วัสดุและอุปกรณ์สร้างสรรค์ผลงาน

1. กระดาษ ดินสอ ปากกาสีเมจิก
2. ผ้าพื้นเนื้อบาง
3. เศษผ้าหลากสี
4. ด้ายเย็บ
5. จักรเย็บผ้า
6. เฟรมไม้ตามแบบ

เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลลงาน

ปะผ้าและเย็บด้วยจักร ขนาดผลงาน 27 x 78 x ซ.ม.

องค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์

ได้ค้นพบแนวทางออกแบบงานประยุกต์ศิลป์ที่ใช้เทคนิคศิลปกรรม ผ้า สามารถสร้างต้นแบบงานพุทธศิลป์ร่วมสมัย ในรูปแบบใหม่ที่เป็น เอกลักษณ์เฉพาะตัว

เอกสารอ้างอิง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์จันทร์เพ็ญ, 2550.