วาดเพลงกล่อมไทย

Wadpleng KlomThai

อาจารย์ชนิศา ชงัดเวช
Chanisa Changadvech

ที่มา และความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน

“วาดเพลงกล่อมไทย” เป็นผลงานสร้างสรรค์ ในโครงการที่จัดทำโดย ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ร่วมกับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยนำเนื้อหาที่สร้างสรรค์ผลงานมาจากบทเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมของไทยที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติ อันแสดงถึงรากเหง้าชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นเครื่องรำลึกชาติกำเนิดของชนชาติ เพลงกล่อมเด็กเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะแบบหนึ่งที่ยากจะระบุได้ว่าเริ่มร้องตั้งแต่สมัยใด หรือเริ่มร้องด้วยเนื้อหาใจความอย่างไรเพราะร้องต่อ ๆ กันมา1 โครงการฯ นี้ได้คัดสรรบทเพลงดั้งเดิมที่อ้างอิงได้และมีเนื้อร้องที่สืบต่อกันมายาวนาน บอกเล่าวิถีชีวิตท้องถิ่น ความเชื่อ ศีลธรรม ประเพณี และ ประวัติศาสตร์ สอดแทรกทั้งการอบรมสั่งสอน จัดเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาบ่มเพาะจิตใจแก่เด็กและเยาวชน ด้วยภาษาที่ไพเราะคล้องจอง สนุกสนาน มีจินตนาการอันน่าอัศจรรย์และการเปรียบเปรยอย่างน่าสนใจ2 นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนสัตว์ และธรรมชาติ จากเนื้อหาบทเพลงที่คัดสรรมาอีกด้วย

ปัจจุบันเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมของไทยจำนวนมากได้เลิกร้องและถูกลืมเลือนไปแล้ว หลายครอบครัวเปิดเพลงตามสมัยนิยมให้เด็กฟัง หรือใช้หนังสือนิทานภาพและเพลงกล่อมเด็กต่างชาติมาอ่านและกล่อมลูกหลานแทน ซึ่งอาจเป็นด้วยภาพประกอบที่มีรูปแบบทันสมัยและเพลงในทำนองสากล จึงทำให้เข้าถึงเด็กและครอบครัวปัจจุบันได้ง่ายกว่าเพลงกล่อมเด็กของไทยแบบดั้งเดิม

การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ “วาดเพลงกล่อมไทย” นี้ จึงเป็นการสร้างสรรค์เพลงกล่อมเด็กในรูปแบบร่วมสมัยจากเนื้อหาดั้งเดิม โดยรวบรวมเพลงกล่อมเด็กจำนวน 22 บทเพลง จัดทำเป็นแอพพลิเคชั่น (application) ซึ่งเป็นสื่อเทคโนโลยีร่วมสมัยเข้าถึงเยาวชนและคนทั่วไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยสามารถเปิดชมแอนิเมชั่นและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กจากคอมพิวเตอร์แทบเลท (computer tablet) ด้วยภาพเคลื่อนไหวที่มีรูปแบบสวยงามร่วมสมัย แสดงถึงวัฒนธรรมไทยประกอบบทเพลงในท่วงทำนองสากลผสมผสานดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์ สื่อสารเนื้อหาให้สนุกสนาน เข้าใจง่าย เกิดความประทับใจ กล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ส่งเสริมทั้งการเรียนรู้ คุณธรรม กระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจเห็นคุณค่าของความเป็นไทยมากขึ้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็นเอกราชของชาติอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของการสร้างสรรค์ผลงาน
  • 1. เพื่อสร้างสรรค์สื่อเชิงโต้ตอบจากภาพประกอบเพลงกล่อมเด็กที่ข้ามยุคสมัย ให้เยาวขนและคนรุ่นใหม่เข้าใจได้ง่ายประกอบการเรียนรู้ มีความน่ารักสนุกสนาน เป็นสากล
  • 2. เพื่ออนุรักษ์เพลงกล่อมเด็กที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติโดยเผยแพร่ผลงานในรูปแบบของสื่อร่วมสมัย ที่สามารถเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายไม่จำกัด เพื่อกระตุ้นและกล่อมเกลาจิตใจให้มีความเข้าใจและภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้น
  • 3. เพื่อใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมความรักความผูกพันและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาทางอารมณ์และสังคมให้แก่เยาวชนได้

Wadpleng-KlomThai2

แนวคิด

“เพลงกล่อมไทย รากแห่งวัฒนธรรมไทย กล่อมใจสู่สากล”
ออกแบบภาพประกอบและภาพเคลื่อนไหวจากบทกล่อมเด็กดั้งเดิมของไทย ด้วยภาพที่สื่อสารเรื่องราวให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจง่าย ในรูปแบบร่วมสมัยที่มีความสวยงามน่ารัก และคงบรรยากาศพื้นบ้านตามวัฒนธรรมไทยแสดงให้ เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนและสัตว์ตามธรรมชาติการเคลื่อนไหวของภาพจะลำดับเนื้อหาตามประเด็นของเรื่อง โดยนำเสนอให้มีความสนุกสนานน่าสนใจ ภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องนุ่มนวล ไม่รุนแรงเร่งเร้า หรือวุ่นวาย เสริมสร้างสมาธิและการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาการทางสมองและจิตใจแก่เด็ก สอดคล้องกับเพลงที่สร้างสรรค์ใหม่ โดยผสมผสานทำนองดนตรีสากลกับเครื่องดนตรีไทย ให้ฟังง่าย ไพเราะ อ่อนโยนมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ร่วมสมัยสู่ความเป็นสากล

กระบวนการของการสร้างสรรค์ผลงาน
  • 1. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลความรู้ในเรื่องคติชาวบ้าน และบทเพลงกล่อมเด็กจากหนังสือ วีดีทัศน์ ซีดีเสียง และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม คัดเลือกเพลงกล่อมเด็กและเพลงเด็กร้องเล่น จำนวน 22 บทเพลง วิเคราะห์ความหมาย หาข้อมูลอ้างอิงและคัดเลือกบทเพลงที่เหมาะสม จัดการสัมนาอบรมให้ความรู้และมอบหมายบทเพลงที่เหมาะสม แก่ทีมนักวาดในโครงการฯ เพื่อออกแบบร่างลายเส้นสร้างภาพประกอบบทเพลง
  • 2. ตรวจแก้ไขปรับปรุงการออกแบบภาพร่างและการลงสีภาพประกอบทุกภาพ ให้สื่อสารเนื้อหาบทเพลงแต่ละเพลงได้อย่างถูกต้อง สวยงาม มีเอกลักษณ์ สอดคล้องกับแนวคิดหลักของโครงการฯ
  • 3. ถ่ายภาพวาดต้นฉบับ ตกแต่งกราฟฟิค แยกเลเยอร์ไฟล์ภาพประกอบทั้งหมด เตรียมทำแอนนิเมชั่น
  • 4. กำหนดแนวคิดในการสร้างสรรค์ทำนองเพลง จัดทำ demo ตรวจและแก้ไขพัฒนาเพลง
  • 5. เขียนบทบรรยายและบทพากษ์ สำหรับแอพพลิเคชั่น ให้เกร็ดความรู้ จำนวน 22 เรื่อง
  • 6. ควบคุมการบันทึกเสียงร้องเพลง เสียงพากษ์และเสียงบรรยายกำกับการตัดต่อเสียง และเรียบเรียงเพลงให้สมบูรณ์
  • 7. นำภาพปร ะกอบที่ตกแต่งกราฟฟิคแล้ว มาสร้างภาพเคลื่อนไหว ตัดต่อผสมเสียงเพลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์กำหนดแนวคิดการสื่อสารและกำกับการทำแอนนิเมชั่น
  • 8. กำหนดแนวคิดและรูปแบบของแอพพลิเคชั่น(interface design) ตรวจแก้ไขและพัฒนาการออกแบบแอพพลิเคชั่นให้สมบูรณ์
  • 9. จัดทำแอพพลิเคชั่น (application) สำหรับ computer tablet ในระบบ ios และ android จำนวน 2 แอพพลิเคชั่น รวม 22 เรื่อง ดังนี้
    • - แอพพลิเคชั่น “เพลงกล่อมไทย” (เพลงกล่อมเด็ก)จำนวน 12 เพลง
    • - แอพพลิเคชั่น “เพลงเด็กไทย”

    (เพลงกล่อมและเพลงเด็กร้องเล่น) จำนวน 10 เพลงโดยแต่ละเรื่องจะนำเสนอแอนิเมชั่นประกอบเพลง ที่สามารถเลือกแสดงเนื้อเพลงเพื่อหัดร้องตามได้ และนำเสนอเกร็ด ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาบทเพลง ด้วยเสียงบรรยายและเสียงพากษ์ จากการสัมผัสหน้าจอบนภาพวาดแต่ละเพลง

Wadpleng-KlomThai3

วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน

สีอะครีลิค สีน้ำ สีไม้ พู่กัน กระดาษชนิดต่าง ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ ห้องอัดเสียงและเครื่องบันทึกเสียง

เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน
  • • สร้างภาพประกอบจำนวน 22ภาพ ด้วยเทคนิค เช่น สีอะครีลิค สีน้ำ สีไม้ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • • สร้างสรรค์และเรียบเรียงเพลง ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผสมผสานเครื่องดนตรีไทย
  • • สร้างภาพเคลื่อนไหว ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • • สร้างแอพพลิเคชั่น ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ขนาดของผลงานสร้างสรรค์
  • • แอนนิเมชั่นประกอบเพลงเป็นดิจิตอลไฟล์ขนาด 2048 px X 1536 px จำนวน 22 เพลง ความยาว 60 นาที
  • • แอพพลิเคชั่น “เพลงกล่อมไทย” และ “เพลงเด็กไทย” บนหน้าจอคอมพิวเตอร์องค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ หรือผลลัพธ์ที่ได้จากการสร้างสรรค์จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ชุดนี้ ข้าพเจ้าได้แนวทางในการออกแบบภาพประกอบ ที่สามารถนำเสนอเรื่องราวของความเป็นไทยอย่างมีเอกลักษณ์ในรูปแบบที่เป็นสากล คือนักวาดสามารถออกแบบภาพด้วยลายเส้น สีและเทคนิคเฉพาะตน ในรูปแบบที่ร่วมสมัยและสื่อถึงความเป็นไทยได้ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ความถูกต้องของข้อมูลอ้างอิงที่นำมาออกแบบ ทั้งคาแรคเตอร์และฉาก เช่น ลักษณะรูปร่างหน้าตาของคนไทยในวัยต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามเนื้อหา เครื่องแต่งกายที่ไม่ผิดเพี้ยนหรือผสมปนเปกับวัฒนธรรมต่างชาติ ลวดลายของเสื้อผ้า โครงสร้างสัดส่วนของสัตว์ตามชนิดและพันธุ์ รวมทั้งการออกแบบฉากจากสถานที่และภูมิประเทศของไทย นอกจากนี้โครงสร้างของสีในแต่ละภาพที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาและบรรยากาศของเรื่อง ก็จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ตามวิถึไทยให้เกิดความชัดเจนขึ้นเช่นกัน
Wadpleng-KlomThai4

Wadpleng-KlomThai5

เอกสารอ้างอิง
  • • บทกลอนกล่อมเด็ก หอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าเหญิง(โต) กับหม่อมเจ้าชาย (พอ) ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อปีระกา พ.ศ.2464. โรงพิมพ์ไทย กรุงเทพฯ
  • • รองศาสตราจารย์กุหลาบ มัลลิกะมาส คติชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
  • • ศาสตราจารย์ พต.หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ กับผู้จัดทำ เพลงกล่อมเด็กและเพลงประกอบการละเล่นของเด็ก ภาคกลาง 16 จังหวัด. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ: คุรุสภา
  • • ประเทือง คล้ายสุบรรณ์ ยุพิน ธชาศรี เพลงกล่อมเด็ก เอกสารประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย หมวดวิชาภาษาไทย, วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา สุทธิสารการพิมพ์ 2517
  • • ศาสตราจารย์ พต.หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ กับผู้จัดทำ เพลงกล่อมเด็กและเพลงประกอบการละเล่นของเด็ก ภาคกลาง 16 จังหวัด. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ: คุรุสภา
  • • พรพิไล เลิศวิชา ไม้อ่อนย่อมดัดได้ ดั่งใจ. ฉบับพิมพ์สี: บริษัทธารปัญญาจำกัด
  • • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สน สีมาตรัง และคณะ ช่างทอ ร้อยใจ เทิดไท้ ๗๒ พรรษา. วุฒิสภาจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
  • • แถบเสียงรวมเพลงกล่อมพระบรรทมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
  • • ท่านผู้หญิงสง่า อิงคุลานนท์ ขับร้อง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รับผิดชอบการทำต้นฉบับแถบเสียง กองศิลปศึกษา กรมศิลปากร บรรจุเพลงและคนตรีประกอบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาดา อรุณเวช ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียงและจัดทำบท บริษัท อมรโปรดัคส์ จำกัดอนุเคราะห์การจัดพิมพ์ ดำเนินการครั้งแรก 500 ชุด เดือน มิถุนายน 2537
  • • จิตรกรรมลายรดน้ำบนบานหน้าต่างของพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)