อีสาน “นรสังข์”

E-San “NorraSang”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐวี ศรีโสภา
Asst. Prof. Ptave Srisopha (DFA)

ที่มา และความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน

สืบเนื่องจากการได้เก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับเสื่อกกที่อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น กับทีมวิจัยของคณะมัณฑนศิลป์ นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากการบูรณาการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นใน ชุมชนต่าง ๆ ทั้งงานทอเสื่อ ทำไม้กวาด ปั้นดอกไม้ เย็บกระเป๋า และทอผ้า ทำให้ได้ทราบถึงสภาพปัญหาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่พบเงื่อนไขข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ ตลาดจำหน่ายสินค้าที่สอดรับกับรูปแบบสินค้า ต้นทุนที่มีจำกัด วัตถุดิบที่มีมากน้อยตามฤดูกาล ค่านิยมในการลอกเลียนแบบสินค้าขายดีจากชุมชนอื่น การขายสินค้าแบบตัดราคาเพื่อเน้นผลกำไรจากปริมาณขายมาก ๆ แม้ได้รับการ สนับสนุนส่งเสริมด้านการออกแบบจากหน่วยงานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง หลายชุมชนก็ติดเงื่อนไขการผลิตได้แต่ในแบบเดิม ๆ ที่ทำสืบ ต่อกันมาเท่านั้น เงื่อนไขเหล่านี้จึงเป็นบ่อเกิดของการขาดการบูรณาการต่อยอดภูมิปัญญาเดิมในชุมชน เพื่อสร้างเป็นผลงานสร้างสรรค์ ใหม่ๆแทนการคอยลอกเลียนแบบผู้อื่นตามที่เคยเป็นมา

“เสื่อกก” เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำ มาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน และทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ หรือเพื่อเป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังการทำนา ด้วยภาพลักษณ์ ด้านลบของเสื่อกก ที่ไม่คงทน จำหน่ายในราคาถูก ถูกพบเห็นจนชินตาในการนำมาใช้งานในรูปแบบชั่วคราว แม้จะมีนักออกแบบ หลายท่านพยายามพัฒนาสีสัน ลวดลาย หรือการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเสื่อ เช่น กล่องทิชชู กระเป๋าถือ รองเท้า ที่รองแก้ว ฯลฯ อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของการเป็นสินค้าราคาถูกจากวัสดุกกทอของไทยก็ยังไม่สามารถลบล้างลงได้ ถือเป็น โจทย์ที่สร้างความท้าทายนักออกแบบเป็นอย่างมากที่จะทำอย่างไรในการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เสื่อกกทอนี้ได้ถือเป็นจุดด้อยของ สินค้าชุมชนของไทยที่ขาดการสร้างเรื่องราว ทำให้สินค้าขาดเสน่ห์และการสืบทอด เพราะในแต่ละเรื่องราวล้วนแฝงไปด้วยความเชื่อ และคติสอนใจที่มีคุณค่ามากกว่าแค่ความงามเพียงอย่างเดียว โดยเรื่องราวที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ คือป่าหิมพานต์ ที่มี สัตว์แปลก ๆ เหนือจิตนาการมากมาย สะท้อนภูมิปัญญาเชิงสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษไทยในทางพุทธศาสนา

สมบัติ พลายน้อย (2534) กล่าวว่า “หิมพานต์ เป็นคำเก่าที่คน รุ่นปู่รุ่นย่าตาทวดรู้จักกันดี เพราะได้รับการถ่ายทอดมาจากชาดก โดย เฉพาะในบทเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ถือเป็นประเพณีที่จะต้อง นำมาเทศน์เป็นประจำทุกปี และเชื่อกันว่า ผู้ฟังจะได้บุญได้กุศล ฉะนั้น คนพื้นบ้านของไทยส่วนมากจึงได้ยินได้ฟังเรื่องป่าหิมพานต์กันมาเป็น อย่างดี สัตว์หิมพานต์ที่มีรูปร่างแปลก ๆ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากนิทาน โบราณเหล่านี้ ในนิทานชาดกบางเรื่อง เช่น เทวันธชาดก ในปัญญาส ชาดกปัจฉิมภาค เล่าถึงม้าถูกยักษ์กัดกินหัวขาดไป พระอินทร์เอาหัว ราชสีห์มาต่อให้กลายเป็นสัตว์ประหลาด มีตัวเป็นม้ามีหัวเป็นราชสีห์”

หากผลงานหัตถศิลป์ชิ้นนี้ถูกสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิดทั้งในด้าน การขึ้นรูปและการสร้างเรื่องราว จากกระบวนการศึกษาทดลองวัสดุ และ กระบวนการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ภายใต้ภาพลักษณ์ของความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาในแบบชาวอีสาน ก็จะถือเป็นปฐมภาคหรือได้เริ่มต้นบุกเบิก มิติใหม่ ๆ ของผลิตภัณฑ์เสื่อกกของไทยให้เป็นที่ต้องการในระดับราคา ที่ต่างไปจากเดิม อันจะส่งผลต่อการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน โดยชาวบ้านในชุมชนยังสามารถสร้างสรรค์รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ภายใต้หลักการผสมผสานและบูรณาการสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นสิ่ง ใหม่ ตามแนวคิดของการสร้างสรรค์สัตว์หิมพานต์ที่เคยมีมาในอดีตของ ไทยเรา ที่ไม่ได้สร้างเฉพาะเสน่ห์ในงานหัตถศิลป์จากเสื่อกกที่เคยขายได้ ในราคาหลักร้อยเท่านั้น เรื่องราวของป่าหิมพานต์ จะยังมีส่วนช่วยสร้าง คุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกได้ในคราวเดียวกัน

วัตถุประสงค์
  • 1. ศึกษาทดลองกระบวนการแปรรูปเสื่อกกในแนวทางใหม่ๆเพื่อ การใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตกแต่งที่พักอาศัย
  • 2. ประยุกต์ใช้ตำนานของป่าหิมพานต์ มาใช้ในการสร้างเรื่องราว ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทกกทอของอำเภอกระนวน จังหวัด ขอนแก่น
  • 3. บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนต่างๆของอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีเสน่ห์และ คุณค่าในบริบทตามแบบท้องถิ่นอีสาน
แนวความคิด

การยกระดับในงานทอกกให้เป็นชิ้นงานหัตถศิลป์ คือแนวคิดใน การวิจัยเชิงทดลองในครั้งนี้ โดยคงกรอบเงื่อนไขของแนวคิดในด้านความ เป็นพื้นถิ่นอีสาน ที่สะท้อนถึงความจริงใจ อยู่ง่าย กินง่าย และสนุกสนาน จากนั้นจึงกำหนดแนวคิดใน 2 ด้าน คือ การสร้างรูปทรงด้วยเทคนิคใหม่ ๆ และการสร้างเรื่องราวลงในผลงานออกแบบ ที่สอดคล้องกับประโยชน์ ใช้สอยในการตกแต่งบ้านพักอาศัย

กระบวนการของการสร้างสรรค์ผลงาน

norra-sang-02

แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 สร้างรูปทรง

กระบวนการขึ้นรูปแผ่นเสื่อกก ส่งผลสำคัญต่อภาพลักษณ์ ของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกให้แตกต่างไปจากที่เคยพบเห็น ที่นิยมนำมาตัดตามแบบ แล้วกุ๊นขอบด้วยผ้า ก่อนนำไปประกอบ เป็นรูปทรงต่าง ๆ โดยเทคนิคที่นำมาประยุกต์ใช้นี้ ได้แนวคิดมาจาก การนวดคลายเส้นของไทย โดยเปลี่ยนจาการนวดหรือกดเส้นของ กล้ามเนื้อ เป็นการกดเส้นกกตามแม่แบบที่กำหนดหลังจากการนำ เส้นกกไปคลายให้ยืดหยุ่นตัวด้วยการแช่น้ำ จากวัสดุเส้นกกที่ค่อน ข้างเปราะหากนำมาดึง ยืด หรือคลาย เส้นกกก็จะแตกและขาดง่าย แต่หากนำเส้นกกที่ทอแล้วมาแช่ในน้ำ แล้วเติมน้ำส้มสายชูลงไป จะทำให้แผ่นกกทอเหนียว และยืดตัวได้ ก่อนนำไปวางลงในแม่แบบ เพื่อการกดให้เป็นรูปทรง 3 มิติ แทนการเย็บต่อกันเป็นชิ้น (ในการ ทดลอง ใช้ชาม ถ้อย และภาชนะทรงเหลี่ยมเป็นแม่แบบ) จากนั้นจึง รอให้แห้งเองในแม่แบบ (ประมาณครึ่งวัน) ก่อนนำมายึดตรึงให้เป็น รูปทรงตามต้องการอีกครั้ง

เสน่ห์ของการไม่ย้อมสีของเส้นกกในผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ คือการให้ธรรมชาติแสดงคุณค่าของตัวเองในแบบธรรมชาติที่ไม่ปรุง แต่งตามแนวคิดที่กำหนดไว้ข้างต้น เพื่อสะท้อนความเป็นผลิตภัณฑ์ ท้องถิ่นของอีสาน

ขั้นตอนที่ 2 สร้างเรื่องราว

นำเรื่องราวของสัตว์หิมพานต์ (สัตว์ที่ไม่มีอยู่จริง) โดยผสม รูปทรงของหอยสังข์ กับคน เข้าด้วยกัน ในชื่อ “นรสังข์” โดยใช้ เทคนิคการปั้นแป้งดินที่ชุมชนในอำเภอกระนวนมีทักษะในงานปั้น ดอกไม้อยู่แล้ว สำหรับการปั้นรูปคนพนมมือนี้ จะต้องใช้แม่แบบ ที่ทำจากซิลิโคน ช่วยขึ้นโครงสร้าง แล้วจึงปั้นส่วนประกอบอื่น ๆ ในรายละเอียด เช่น เครื่องประดับ แขน เป็นต้น ก่อนปล่อยให้แห้ง ในที่ร่มเพื่อป้องกันการแตกของดิน แล้วนำมาประกอบเข้ากับลำตัว รูปหอยสังข์ด้วยกาว

ประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปบรรจุดอกไม้แห้ง (บุหงา) เพื่อใช้ประดับบนโต๊ะทำงาน โต๊ะรับแขก หรือในห้องพระได้ จาก ท่วงท่า ลีลาของการพนมมือ สร้างให้เกิดความรู้สึกน่าเลื่อมใสศรัทธา และช่วยส่งเสริมงานทอเสื่อกกสีธรรมชาตินี้ ให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นใน ระดับงานหัตถศิลป์ประจำท้องถิ่น

วัสดุและอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน

วัสดุ ได้แก่ เสื่อกก ดินปั้น อุปกรณ์ ได้แก่ อ่างน้ำ แม่แบบจากยางซิลิโคน แม่พิมพ์กดแบบ กาว ด้าย และเข็ม

เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน

เทคนิคสื่อผสม

มิติของผลงานสร้างสรรค์

14 (กว้าง) x 30 (ยาว) x 19 (สูง)

องค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์

แนวทางการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน ปัญหาที่มักถูกมองข้าม คือการบูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มี ให้เกิดเป็นกระบวนการที่แตกต่าง ออกไปจากเดิม ซึ่งมาจากการได้ทดลองปฏิบัติเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ วัสดุท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างเรื่องราว (Story) ที่สามารถเสริมคุณค่า ทางวัฒนธรรม และความเชื่อได้ในอีกทางหนึ่ง แนวคิดทั้ง 2 ประการ นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรูปแบบผลงานที่ตายตัว แต่เปิดช่องในการสร้างสรรค์ รูปแบบของตนเองได้อย่างอิสระ เพียงนำหลักการคิดในการออกแบบ มาประยุกต์ใช้ แต่บุคลิกเฉพาะของผลงานของช่างหรือนักออกแบบ แต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ถือเป็นเสน่ห์ของงานหัตถศิลป์ท้องถิ่น ที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว

ปัญหาที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ยากคือการปรับกระบวนการคิด และ กระบวนการทำงานที่ต่างจากเดิม และการรอคอยหน่วยงานต่างๆช่วยหา ตลาดจำหน่ายที่เหมาะสม เช่น ในศูนย์การค้าหรือตลาดส่งออก เป็นต้น ชุมชนจะมีค่านิยมในการลอกเลียนแบบที่ทำยอดขายได้ดีตาม ๆ กันจน ขาดเอกลักษณ์เฉพาะตน ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้จึงอาจจบลงแค่เพียงการ ได้ทดลองคิดทดลองทำในงานพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกในมิติใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยากที่จะได้นำไปใช้งานจริงได้

จึงขอให้ “นรสังข์” เป็นปฐมบททางความคิดในการต่อยอด ภูมิปัญญาชุมชนที่มีเรื่องราว การปรับปรุงแก้ไขให้ใช้งานได้จริงและ เป็นที่ยอมรับในยุคสมัย ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์และผู้มีใจรักนำไป ต่อยอดเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น นรสังข์ร่ายรำด้วยกัน หรือนรสังข์ถูกนำ ไปใช้แทนแจกันดอกไม้บนโต๊ะหมู่บูชา ฯลฯ อันจะส่งผลให้งานทอ เสื่อกกเป็นอาชีพหลักของคนไทยได้จริงในภายหน้า

norra-sang-03

เอกสารอ้างอิง

สมบัติ พลายน้อ ย. สัตว์นิยาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น, 2531.